ตามหนังสือ Liber Pontificalis ปี ค.ศ. 251-253 สตรีใจศรัทธาชาวโรมันผู้หนึ่งชื่อลูซีนา (Lucina) ได้ย้ายศพของนักบุญเปาโล
(รวมทั้งของนักบุญเปโตรด้วย) จากกาตาคอมบ์ (Catacomba) และได้นำศพของนักบุญเปาโลมาตั้งไว้ในที่ดินของตน
ที่ถนน Ostian Way (Via Ostiense) แต่ศพของเธอถูกฝังที่ Appian Way ใน Crypt of Lucina จักรพรรดิคอนสแตนตินได้สร้างอาคารหลังแรกเหนือพระธาตุของนักบุญเปาโลในปี ค.ศ. 324 และจักรพรรดิโฮโนรีอุส (Honorius)
ได้สร้างให้เป็นมหาวิหารใหญ่โตสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 395 ได้รับการประดับประดาด้วย เงิน ทอง
และเพชรพลอยมากมายให้เป็นเกียรติแด่ท่านนักบุญเปาโล พวกแขกซาราเซ็น (Saracen)
พยายามบุกเข้ามาปล้นมหาวิหารแห่งนี้ในหลายศตวรรษ จนในที่สุด พระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 8 (ค.ศ. 872-882)
ได้มีพระประสงค์ที่จะสร้างกำแพงล้อมรอบมหาวิหารแห่งนี้เพื่อเป็นการป้องกัน
สาเหตุนี้เอง มหาวิหารแห่งนี้จึงถูกเรียกว่า St. Paul's outside the walls
เพราะกำแพงที่สร้างขึ้นได้ทำให้มหาวิหารแห่งนี้อยู่นอกกรุงวาติกันไปอันเนื่องมาจากการบุกปล้น
และการทำลายของพวกแขกซาราเซ็นหลายครั้ง ทำให้ต้องทำการซ่อมแซมหลายครั้ง
ในการซ่อมแซมแต่ละครั้งได้มีการนำเอาศิลปะที่ล้ำค่าต่าง ๆ มากมายเข้ามาด้วย
เช่น โคมระย้าสำหรับเทียนปาสกา (ฐานตั้งเทียนปาสกา) ของศตวรรษที่ 12 ศิลปะโมซาอิค ผลงานของ Cavallini และ Ciborio
ที่มีชื่อเสียงในปี ค.ศ. 1285 ออกแบบโดย Arnolfo di Cambioมหาวิหารแห่งนี้ นับตั้งแต่ปีศักดิ์สิทธิ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1300
(สมัยพระสันตะปาปา บอนิฟาส ที่ 8) ได้รับเกียรติเทียบเท่ากับมหาวิหารนักบุญเปโตร
พวกจาริกแสวงบุญที่ต้อง การรับพระคุณการุณย์ จะต้องมาเยี่ยมมหาวิหารและสวดภาวนาทางเข้าไปสู่ห้องซาคริสเตียน
มีห้องเก็บพระธาตุที่มีชื่อเสียงมาก เช่น พระคัมภีร์โบราณที่เขียนด้วยลายมือของนักบุญเยโรม (ค.ศ. 342-420)

 

นอกจากนี้ ยังมีห้องเก็บพระธาตุของนักบุญสเตฟาโน (St. Stefano) และนักบุญอันนา (St. Anna) ด้วย
ในห้องเก็บพระธาตุยังมีกางเขนเล็ก ๆ ที่มาจากกางเขนแท้ของพระเยซูเจ้า ฝุ่นกระดูกของบรรดาอัครสาวก
โซ่เหล็กที่ใช้ล่ามนักบุญเปาโล (St. Paolo) ส่วนหนึ่งของไม้เท้าของนักบุญเปาโล และพระธาตุของนักบุญองค์อื่น ๆ ด้วย

 

นอกจากนี้ มหาวิหารนี้ยังได้รับการซ่อมแซมอีกหลายครั้งในสมัยของพระสันตะปาปา ซีสโต ที่ 5 และพระสันตะปาปา เบเนดิกโต ที่ 13
พระสันตะปาปา ซีสโต ที่ 5 ทรงซ่อม แซมเพดานของมหาวิหารใหม่ ส่วนพระสันตะปาปา เบเนดิกโต ที่ 13
ทรงซ่อมแซมเสาหินทั้งสองด้านภายในมหาวิหาร

 


วันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1823 ได้เกิดเพลิงไหม้นานถึง 5 ชั่วโมง เพลิงได้เผาผลาญทำลายมหาวิหารเกือบหมด
เหลือเพียงอาคารครึ่งหนึ่ง ประตูชัย และโมซาอิคเท่านั้นที่เป็นของเก่าดั้งเดิมมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเราอาจเรียกได้ว่า มุขที่ยื่นออกไปหลังแท่นนั้น
ที่ตั้งเทียนปาสกา Ciborio และ Chiostro (อาราม) ที่หลงเหลือจนทุกวันนี้ พระสันตะปาปา ลโอเน ที่ 12 ได้ทรงสร้างขึ้นใหม่
โดยได้รับเงินช่วยเหลือจากกษัตริย์แห่ง Sadegna ผู้ปกครองประเทศ Paesi Bassi ฝรั่งเศส Sicily และ Zar แห่งรัสเซีย
การสร้างนี้ได้ใช้โครงสร้างที่ใกล้เคียงกับโครงสร้างเดิมมากที่สุด
มหาวิหารนักบุญเปาโลได้รับการเสกอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1854
นั่นคือสองวันหลังจากการประกาศข้อความเชื่อ Immaculate Conception ในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1854 โดยพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 9

 

ปัจจุบัน มหาวิหารแห่งนี้ได้รับการดูแลโดยนักบวชคณะเบเนดิกติน มหาวิหารแห่งนี้มีความกว้างใหญ่ถึง 132?65 เมตร
สองข้างระหว่างเสาหินภายในมหาวิหารนี้ มีรูปโมซาอิคของพระสันตะปาปาต่าง ๆ จนถึงองค์ปัจจุบัน เล่าขานกันสืบต่อมาว่า เมื่อใดก็ตาม
เมื่อรูปโมซาอิคของพระสันตะปาปาต่าง ๆ ในมหาวิหารนี้เต็มจนไม่สามารถมีรูปโมซาอิคได้อีก เมื่อนั้นจะเป็นวันสิ้นโลก
โดยที่เข้าไปชมมหาวิหารนี้ ก็มักจะชอบไปนั่งดูว่ายังเหลืออีกกี่ช่อง และจะเหลืออีกกี่ปี ผมไปนับมาครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนมิถุนายน 2007
นับได้ 13 ช่อง ก็ยังไม่รู้ว่าจะเหลืออีกกี่ปี

 

บนกำแพงใหญ่ข้างพระแท่นกลาง จะมีรูปวาดของศิลปินผู้หนึ่ง เป็นรูปโลงศพของพระนางมารีอา
โดยมีบรรดาอัครสาวกของพระเยซูเจ้าอยู่ข้าง ๆ โลงศพนี้ เป็นเครื่อง หมายว่า
พระนางมารีอาได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ หากเราอยู่ด้านริมสุดของรูป โลงศพก็หันมาทางเรา
และหากเราเดินไปอีกด้านหนึ่งของรูป โลงศพก็จะหันตามเราไปเสมอ
เพื่อเตือนใจเราว่า “ไม่ว่าเราจะเป็นใคร ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เราล้วนต้องตาย”

 

หากไปเยี่ยมมหาวิหารนักบุญเปาโล ก็อย่าลืมไปชมภาพนี้เป็นขวัญตาพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16
ได้ประกาศเพื่อเฉลิมฉลอง 2,000 ปีของนักบุญเปาโล จึงประกาศให้ปีนักบุญเปาโลเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2008
จนถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2009 ดังนั้น ตลอดปีนักบุญเปาโล จะมีกิจกรรมเฉลิมฉลองตลอดทั้งปีที่มหาวิหารนักบุญเปาโล


 

สำหรับสถานที่ที่ท่านนักบุญเปาโลถูกตัดศีรษะนั้น อยู่ห่างออกไปจากมหาวิหาร เรียกบริเวณนั้นว่า “Tre Fontane” อันเป็นชื่อที่มาจากการตัดศีรษะของท่านนักบุญเปาโล ศีรษะของท่านได้ตกลงมาบนทางเนิน และก่อให้เกิดน้ำพุขึ้น 3 แห่ง
จึงเรียกสถานที่นี้ว่า “Tre Fontane”

 

 

นอกจากนี้ ตรงข้ามกับสถานที่นี้ ยังเป็นบริเวณสวนสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันมีวัดน้อย ตั้งเป็นพยานถึงการประจักษ์มาของพระแม่มารีอา
โดยประจักษ์ให้แก่ชายคนหนึ่ง ชื่อ บรูโน เป็นที่รู้จักกันในนามของ แม่พระแห่งการเปิดเผย (Mother of Revelation)
วันที่ 12 เมษายนของทุกปีเป็นวันฉลองของแม่พระแห่งการเปิดเผยนี้ มีผู้ที่เชื่อและเห็นด้วยว่า ทุก ๆ ปี ในวันนี้
จะมีปรากฏการณ์พระอาทิตย์หมุนในระหว่างมิสซาฉลองด้วย ใครบังเอิญมาช่วงวันนี้ ก็ลองมาดูด้วยตาตนเองก็ได้

ที่มา : โดย คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์
จาก : http://haab.catholic.or.th/history/roma.html